10 วิธีประนอมหนี้ รับมือกับปัญหาหนี้ก้อนโต!
10 วิธีประนอมหนี้ รับมือกับปัญหาหนี้ก้อนโต

ผ่อนบ้านไม่ไหวทำยังไงดี? 10 วิธีรับมือกับหนี้ก้อนใหญ่ ประนอมหนี้ยังไงได้บ้าง?

แม้ว่าก่อนการกู้ซื้อบ้านเราจะมีการวางแผนทางการเงินเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นแล้วเราก็สามารถประสบปัญหาทางการเงินได้ทุกเมื่อ โดยที่อาจส่งผลกระทบไปถึงการเป็นหนี้ที่ผ่อนบ้านไม่ไหว จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนกลัวและไม่กล้าเข้าไปพูดคุยกับทางธนาคารโดยตรง

ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถทำสิ่งนี้ได้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีในกรณีนี้นั้นคือการประนอมหนี้นั่นเองครับ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร แล้วขั้นตอนในการประนอมหนี้บ้านมีอะไรบ้าง แล้วเราควรรับมือกับหนี้ก้อนใหญ่นี้ยังไงต่อ ผมมีคำแนะนำดี ๆ มาให้เพื่อน ๆ ได้ลองดูกันถึง 10 ข้อด้วยกัน และเชื่อว่าคำแนะนำเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือเพื่อน ๆ ได้หลายคนอย่างแน่นอน

การประนอมหนี้บ้านคืออะไร

การประนอมหนี้บ้าน เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญและจำเป็นมากที่สุดในกรณีที่เพื่อน ๆ ผ่อนบ้านไม่ไหว เพราะการประนอมหนี้เป็นการเข้าไปคุยเจรจากับเจ้าหนี้ ถ้าเรากู้เงินกับธนาคารมาเราก็ต้องเข้าไปประนอมหนี้บ้านกับธนาคาร โดยที่จะสามารถต่อรองเงื่อนไขได้เพิ่มเติม เช่น ขอผ่อนผัน ปรับเปลี่ยนข้อตกลง หรือขอลดหย่อน ฯลฯ

ซึ่งที่ผมบอกว่ามีความสำคัญมากเป็นเพราะว่า ขั้นตอนการประนอมหนี้จะเป็นการชะลอ หรือหยุดการดำเนินการจากเจ้าหนี้ ทำให้เราไม่ถูกยึดทรัพย์หรือฟ้องร้องเมื่อผ่อนชำระไม่ไหวนั่นเองครับ ทำให้ลดการเกิดปัญหาที่ไร้ทางออกไปได้มากเลยทีเดียว

10 วิธีแนะนำที่ควรทำ เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว

ผมพาไปรู้จักกับการประนอมหนี้กันแล้ว คำถามต่อมาคือในการประนอมหนี้ เราควรจะเจรจายังไงได้บ้างเพื่อให้การชำระหนี้บ้านยังคงดำเนินต่อไปได้เมื่อเราผ่อนบ้านไม่ไหว เดี๋ยววันนี้ผมจะขอมาแชร์ 10 เทคนิคที่ควรทำ หากผ่อนบ้านไม่ไหว มาดูกันเลยว่าเราควรจะทำอย่างไรบ้าง

1. ขอพักชำระเงินต้น (ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย)

วิธีแรกที่เพื่อน ๆ สามารถทำได้เมื่อจ่ายค่าบ้านไม่ไหวนั่นคือการขอพักชำระเงินต้นไว้ก่อน แต่จะชำระต่อเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น และทางธนาคารก็จะช่วยลดดอกเบี้ยอีกทาง ซึ่งถึงแม้จะยังมีรายจ่ายอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีเงินส่วนอื่น ๆ ไปสร้างความคล่องทางการเงินให้กับตัวเองได้ โดยที่เมื่อสิ้นสุดการพักชำระเงินต้น ก็ต้องกลับมาชำระหนี้ต่อตามเดิมนั่นเอง

2. ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้

หากผ่อนบ้านไม่ไหว การขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ยากแล้วในปัจจุบัน โดยที่สามารถเจรจากับทางธนาคารได้ถึงการยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้นานออกไป ทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนนั้นน้อยลงได้ และมีเงินส่วนที่เหลือเพื่อนำไปใช้จ่ายอื่น ๆ ต่อได้ แต่ต้องระวังในเรื่องของดอกเบี้ยที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจากการเป็นหนี้นานขึ้นนั่นเอง

3. ขอผ่อนผันหนี้ที่ค้างชำระ

อีก 1 ทางออกผ่อนบ้านไม่ไหว คือการขอผ่อนผันหนี้ที่ค้างชำระชั่วคราว ซึ่งสำหรับวิธีนี้ผมแนะนำว่าสามารถใช้ได้เพียงระยะสั้น เนื่องจากตามเงื่อนไขไม่สามารถขอผ่อนผันได้นาน เมื่อครบกำหนดก็จะต้องกลับมาชำระหนี้ตามเดิมครับ ทำให้วิธีนี้จะไม่เหมาะกับเพื่อน ๆ ที่อาจมีปัญหาทางการเงินในระยะยาวนั่นเอง

4. ขอลดอัตราดอกเบี้ยด้วยรีไฟแนนซ์ & รีเทนชั่น

ถ้าซื้อบ้านแล้วผ่อนไม่ไหว เราสามารถทำการรีไฟแนนซ์บ้าน หรือ รีเทนชั่นได้ โดยถ้ารีไฟแนนซ์จะเป็นการกู้เงินจากธนาคารใหม่ แล้วไปปิดหนี้ธนาคารเก่า และจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า ส่วนการรีเทนชั่นจะเป็นการขออัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมที่น้อยกว่า ทำให้เราสามารถผ่อนชำระบ้านได้หมดเร็วขึ้น แม้จะดูยุ่งยาก แต่ผมแนะนำวิธีการรีไฟแนนซ์บ้านมาก ๆ ครับ เพราะเราจะประหยัดเงินจากดอกเบี้ยไปได้หลักแสนเลย ซึ่งหากถามว่าแล้วติดบูโรรีไฟแนนซ์บ้านได้ไหม ก็ต้องบอกเลยว่าทำได่เช่นกัน แต่อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเล็กน้อยซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารครับ

ขอลดอัตราดอกเบี้ยด้วยรีไฟแนนซ์และรีเทนชั่น

5. ขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่างวดปกติ

อีกวิธีรับมือเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว นั่นคือการชำระค่างวดที่ต่ำกว่าปกติ แต่ยอดชำระเงินต้นจะต้องสูงกว่าดอกเบี้ย 500 บาท และสามารถทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกิน 2 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นเพื่อน ๆ ก็จะต้องหาทางให้เรามีเงินมากพอ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการผ่อนชำระได้ตามปกติเมื่อถึงระยะเวลาครับ

6. การพักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย)

การประนอมหนี้อีกวิธีคือการพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารมักจะให้ระยะเวลาตั้งแต่ 3 - 6 เดือน สำหรับวิธีนี้ เหมาะกับเพื่อน ๆ ที่มีปัญหาทางการเงินชั่วคราวและไม่นานนัก หลังจากครบตามเงื่อนไขก็จะต้องกลับมาชำระหนี้ตามปรกติ

การพักชำระหนี้

7. ขอโอนบ้านให้กับธนาคารชั่วคราวและจะซื้อคืน

หากหมดหนทางแล้วจริง ๆ ก็ยังมีอีกวิธีการประนอมหนี้บ้านกับธนาคารได้ นั่นคือการโอนบ้านเป็นของธนาคารชั่วคราว ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถทำได้และลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้อง โดยทางธนาคารจะมีการทำสัญญาเช่าเป็นรายปี เมื่อผู้กู้พร้อมผ่อนชำระอีกครั้งก็สามารถดำเนินการซื้อบ้านคืนจากธนาคารในภายหลังได้

8. ขอให้ธนาคารชะลอฟ้องหรือถอนฟ้อง [กรณีกำลังถูกฟ้อง]

หากเพื่อน ๆ กำลังถูกธนาคารฟ้องในกรณีที่ส่งบ้านต่อไม่ไหว ก็สามารถเข้าไปเจรจาขอให้ธนาคารชะลอหรือถอนการฟ้องได้ แต่ก็ต้องทำตามเงื่อนไขของทางธนาคารด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องดำเนินการเพื่อถอนฟ้องนั่นเองครับ



9. ยอมความกับสถาบันการเงิน [กรณีถูกฟ้อง]

ถ้าหากอยู่ในขั้นที่ไม่สามารถชะลอหรือถอนการฟ้องได้ เราสามารถยอมความได้เช่นกัน โดยที่จะมีเงื่อนไขว่าเราจะต้องเป็นฝ่ายจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงต้องมีการไถ่ถอนบ้านที่ถูกจำนองในระยะเวลาที่ทางธนาคารกำหนดไว้ครับ

10. ขอชะลอการยึดทรัพย์และขอชะลอการขายทอดตลาด [กรณีถูกยึดทรัพย์]

การประนอมหนี้บ้านวิธีสุดท้าย ในกรณีที่อยู่ในขั้นถูกยึดทรัพย์แล้ว แต่เราก็ยังสามารถขอชะลอการยึดทรัพย์ และ ชะลอการขายทอดตลาดได้ โดยที่เราต้องเป็นฝ่ายชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงหนี้สินที่ตกค้างและไถ่ถอนจำนองภายใน 3 เดือน ซึ่งต้องชำระเงินเบื้องต้น 1 ก้อน เมื่อตัวทรัพย์สินมีค่ามากกว่าหนี้ เราก็อาจสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้นั่นเองครับ

สรุป

การประนอมหนี้บ้านสามารถทำได้และง่ายกว่าที่คุณคิด เมื่อเกิดปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปคุยกับธนาคารได้โดยตรงเพื่อวางแผนถึงทางออกในการแก้ปัญหารับมือเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว แต่ถ้าเป็นไปได้เราก็สามารถป้องกันปัญหาต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือการรีไฟแนนซ์บ้านทุก 3 ปี ซึ่งก็ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะ Refinn ช่วยคุณได้ เราเป็นได้ทั้งที่ปรึกษา สามารถหาโปรโมชั่นที่ดีที่สุดให้กับเพื่อน ๆ ได้ และพร้อมดูแลตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการดำเนินงาน เพราะฉะนั้นแล้วถ้าต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน เขามาใช่บริการได้ฟรีที่เว็บไซต์ของเราได้เลยครับ!

เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2567
Refinn Writer
ช่วยเปรียบเทียบโปรโมชั่นที่ประหยัดดอกเบี้ยที่สุด ฟรี ไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม