ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถไม่เสียส่วนต่างได้จริงไหม? รู้ก่อนคืนรถให้ไฟแนนซ์
รีไฟแนนซ์รถ
ธนาคารไหน วงเงินสูงสุด ดอกเบี้ยถูกสุด หาได้ที่นี่
ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถไม่เสียส่วนต่างได้จริงไหม? รู้ก่อนคืนรถให้ไฟแนนซ์

ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถไม่เสียส่วนต่างได้จริงไหม มาดูกัน!

หากใครได้ดูข่าวเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะเห็นว่าสถานการณ์การเช่าซื้อรถในไทยนั้นน่าเป็นห่วง เพราะปริมาณผู้เช่าซื้อที่ผ่อนต่อไม่ไหวจนถึงขั้นคืนรถให้ไฟแนนซ์ หรือปล่อยให้รถถูกยึดเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ

แต่รู้ไหมครับว่า หากตกอยู่ในสถานการณ์ผ่อนรถไม่ไหว เพื่อน ๆ สามารถคืนรถให้ไฟแนนซ์โดยไม่เสียส่วนต่างและไม่เสียเครดิตด้วยครับ

รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังครับ

คืนรถให้ไฟแนนซ์คืออะไร เสียค่าส่วนต่างไหม

การผ่อนรถต่อไม่ไหวเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้และหากต้องการคืนรถ สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ คืนรถนั้นคืออะไร 

การคืนรถ คือการแจ้งธนาคารหรือไฟแนนซ์ว่าต้องการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถและต้องการคืนรถกลับคืนให้ไฟแนนซ์ ทั้งนี้ การคืนรถมี 2 กรณีที่ต้องนำมาประเมินตัวเองว่าต้องจ่ายค่าส่วนต่างหรือไ่ม่

ประวัติการชำระค่างวดรถอย่างสม่ำเสมอ

ไม่เสีย

หากมีประวัติทางการเงินดี ไม่มีประวัติค้างชำระ สามารถแจ้งคืนรถให้ไฟแนนซ์ได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างและเป็นการคืนรถที่ไม่เสียเครดิตครับ 

ประวัติการชำระค่างวดรถอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากคืนรถ ไฟแนนซ์จะนำรถไปประมูลขาย หลังขายได้ ไฟแนนซ์จะนำยอดหนี้ที่เหลือหักกับยอดเงินที่ขายได้ทำให้เกิดส่วนต่างขึ้นและส่งจดหมายแจ้งให้ชำระค่าส่วนต่าง ซึ่งเพื่อน ๆ ไม่ต้องจ่ายครับ

ถ้าไม่จ่ายจะมีปัญหาหรือไ่ม่

คำตอบคือไม่มีครับ เพราะถ้าผู้เช่าซื้ออยู่ในเงื่อนไขมีเครดิตทางการเงินดี การคืนรถให้ไฟแนนซ์ก็ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างและเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองผู้เช่าซื้อครับ

ดังนั้น เมื่อต้องการคืนรถ สิ่งที่ต้องทำมีเพียงแจ้งไฟแนนซ์เพื่อนัดหมายวันที่สะดวกคืนรถ ตรวจเช็กพ.ร.บ. ภาษีและสภาพรถให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้ก็คืนรถได้แล้วครับ

ประวัติการชำระค่างวดรถไม่ดี ขาดการส่งค่างวดรถ

เสีย

กรณีค้างค่างวด 1-2 เดือนก่อนแจ้งคืนรถ ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่างวดที่ค้างทั้งหมดก่อน ถึงจะคืนรถแบบไม่เสียส่วนต่างได้

แต่หากค้างค่างวดเกิน 3 เดือน ไฟแนนซ์จะติดต่อมาเพื่อแจ้งให้ชำระค่างวดที่ค้างไว้ทั้งหมด หากไม่ชำระ ไฟแนนซ์จะยึดรถคืนครับ

กรณีนี้ ผมแนะนำให้เจรจากับไฟแนนซ์เพื่อขอคืนรถ โดยผู้เช่าซื้อต้องชำระค่างวดที่ค้างทั้งหมดก่อน หากไม่สามารถชำระได้และปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถ หลังไฟแนนซ์ขายรถได้จะเกิดส่วนต่างขึ้น ซึ่งผู้เช่าซื้อต้องชำระส่วนต่างนี้ แต่สามารถต่อรองกับไฟแนนซ์เพื่อขอลดจำนวนลง หรือขอผ่อนจ่ายได้ครับ

คืนรถให้ไฟแนนซ์ดีไหม ตัดสินใจยังไงดี

หลาย ๆ คนอาจไม่แน่ใจว่าควรคืนรถดีหรือไม่ ผมมีวิธีประเมินตัวเองให้ครับ

  • ความจำเป็นในการมีรถ

พิจารณาความจำเป็นในการมีรถ หากต้องใช้รถในการทำงานและคิดว่าผ่อนรถต่อไมไหวแน่ ๆ ผมแนะนำให้เข้าไปเจรจากับไฟแนนซ์ในตอนที่ยังมีความสามารถในการผ่อนชำระได้เพื่อหารือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี

  • สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบัน

นำรายรับและรายจ่ายของแต่ละเดือนมาดู หากพบว่า สถานการณ์ทางการเงินเข้าสู่สภาวะฝืดเคืองจนอาจต้องคืนรถเพราะผ่อนต่อไม่ไหว ผมแนะนำให้แจ้งไฟแนนซ์เพื่อคืนรถครับ

  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถ

การมีรถทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าซ่อมรถ ค่าประกัน ค่าต่อ พ.ร.บ.และภาษี ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่น้อยเลยครับ ให้พิจารณาว่าจ่ายไหวหรือไม่ หากคิดว่าไม่ไหวและเป็นการเพิ่มภาระที่ทำให้ใช้ชีวิตลำบาก ผมแนะนำให้คืนรถครับ

  • ประเมินสถานการณ์

ประเมินสถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันและมองไปในอนาคตอีก 1-3 เดือนว่าผ่อนรถไหวหรือไม่ หากประเมินรอบด้านแล้วว่าไม่ไหว ควรแจ้งไฟแนนซ์เพื่อคืนรถแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่เสียเครดิตทางการเงินครับ

หากต้องการคืนรถให้ไฟแนนซ์ เสียเครดิตทางการเงินไหม

ถ้าซื้อรถมาแล้วผ่อนไม่ไหว ต้องการคืนรถแต่กลัวเสียเครดิตทางการเงิน พิจารณา 2 ข้อนี้ว่าอยู่ในเงื่อนไขข้อใดครับ

  • ผู้เช่าซื้อมีวินัยทางการเงินดี ไม่เคยค้างชำระ

หากแจ้งไฟแนนซ์เพื่อขอคืนรถในตอนที่เครดิตทางการเงินยังดีอยู่ การขอคืนรถนั้นไม่เสียเครดิตแน่นอนครับ

หากต้องการคืนรถให้ไฟแนนซ์ เสียเครดิตทางการเงินไหม

  • ผู้เช่าซื้อมีประวัติค้างชำระ

หากมีประวัติค้างค่างวด 1-2 งวดก่อนแจ้งไฟแนนซ์เพื่อขอคืนรถ กรณีนี้ เสียเครดิตทางการเงินครับ เพราะการทำงานของเครดิตบูโรคือ ผิดนัดชำระเพียง 1 ครั้งก็เกิดการบันทึกเครดิตบูโรแล้วอันตรายที่สุดคือการค้างค่างวด 3 เดือนขึ้นไป ไฟแนนซ์จะโทรมาแจ้งให้ชำระค่างวดอย่างน้อย 2 เดือน หากไม่ชำระตามกำหนด ไฟแนนซ์จะเข้ามายึดรถ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ เพื่อน ๆ เสียเครดิตแน่นอนครับ

จ่ายงวดรถไม่ไหว ทำยังไงดี

บางคนผ่อนรถไม่ไหว แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถอยู่ จะทำอย่างไรดี? ผมรวบรวมคำตอบมาให้ครับ

รีไฟแนนซ์รถ

รีไฟแนนซ์รถ คือการยกเลิกสัญญากับธนาคารเดิมเพื่อไปทำสัญญากับธนาคารใหม่ วิธีนี้ช่วยปิดหนี้ทั้งหมดกับธนาคารเดิม ได้รับเงินก้อนจากเงินส่วนต่างที่นำไปปิดหนี้ ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลงจากที่เดิม และยอดผ่อนต่อเดือนก็น้อยลงด้วยครับ

คนที่เหมาะสมจะเอารถเข้าไฟแนนซ์

  • คนที่ต้องการเงินก้อน
  • คนที่ผ่อนรถมาแล้วเกิน 50% ของยอดหนี้ทั้งหมด
  • ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนก็รีไฟแนนซ์รถได้ ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำก็รีไฟแนนซ์ได้

การรีไฟแนนซ์รถสามารถทำได้หลายธนาคาร แต่ละธนาคารก็มีโปรโมชันให้เลือกมากมาย แต่จะเป็นที่ไหนดีนั้น ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ รีไฟแนนซ์รถยนต์ที่ไหนดี ครับ

ขอปรับโครงสร้างหนี้

การเข้าไปที่ธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทางธนาคารจะเสนอวิธีช่วย เช่น

  • ปรับลดยอดผ่อนต่อเดือนให้น้อยลง
  • ยืดระยะเวลาในการผ่อนรถให้นานขึ้น
  • แนะนำให้ผ่อนแบบขั้นบันได นั่นคือ ผ่อนจำนวนน้อยลงในช่วงการเงินตึงมือและผ่อนมากขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เปลี่ยนสัญญา

การเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ คือการเปลี่ยนชื่อเจ้าของสัญญาเช่าซื้อครับ เรียกอีกชื่อว่าการขายดาวน์ ซึ่งมี 2 รูปแบบ

  • ผู้เช่าซื้อคนใหม่ผ่อนชำระต่อเอง (ขายดาวน์แบบเปลี่ยนผู้ถือสัญญา) 

การเข้าไปคุยกับไฟแนนซ์ว่าต้องการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อ โดยผู้เช่าซื้อคนใหม่จะทำการผ่อนชำระต่อเอง ไฟแนนซ์ก็จะทำการเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อในสัญญาให้ครับ

  • ผู้เช่าซื้อคนใหม่ซื้อรถด้วยเงินสดเต็มจำนวน (ขายดาวน์รถให้กับผู้อื่น)

ผู้ซื้อรถ (เจ้าของรถคนใหม่) ต้องนำเงินสดมาจ่ายเต็มจำนวนเพื่อให้ผู้ขาย (เจ้าของรถคนเดิม) นำเงินส่วนหนึ่งไปปิดยอดหนี้คงเหลือกับไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์ทำการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถให้และผู้ขายจะเก็บเงินส่วนที่เหลือไว้ ซึ่งเป็นเงินส่วนดาวน์รถครับ

ยกตัวอย่าง

ตกลงซื้อขายรถที่ราคา 500,000 บาท แต่รถติดไฟแนนซ์ 370,000 บาท 

ผู้ซื้อต้องชำระเงินเต็มจำนวนให้ผู้ขาย 

ผู้ขายนำเงินจำนวน 370,000 บาทไปปิดยอดหนี้คงเหลือกับไฟแนนซ์ และเก็บส่วนต่าง 130,000 บาทเอาไว้ ซึ่งส่วนนี้คือเงินค่าดาวน์รถครับ

ขายรถกับเต็นท์รถมือสอง

หลังตกลงราคาขายรถกันได้ ทางเต็นท์รถมือสองจะติดต่อไฟแนนซ์เพื่อปิดยอดหนี้ทั้งหมดเอง วิธีนี้ง่ายและรวดเร็ว เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเงินด่วนครับ

ปิดไฟแนนซ์ก่อนขายรถ

วิธีนี้ต้องมีเงินจำนวนมากพอมาปิดไฟแนนซ์รถครับ ซึ่งการปิดยอดหนี้ทั้งหมดก่อนหมดสัญญา ทางไฟแนนซ์จะมีส่วนลดให้และเมื่อปิดยอดหนี้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้วก็สามารถนำรถไปขายต่อได้เลย

หนึ่งสิ่งที่ผมอยากบอกคือ เพื่อน ๆ ไม่สามารถขายรถขณะที่รถยังติดไฟแนนซ์ได้ครับ วิธีที่ทำได้ คือวิธีข้างต้นที่ผมได้บอกไปครับ

สรุป

หากรู้ตัวว่ากำลังจะผ่อนรถไม่ไหว การคืนรถเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหา นอกจากไม่ต้องเสียส่วนต่างแล้ว ยังไม่เสียเครดิตอีกด้วย

แต่หากไม่อยากคืนรถ ก็ใช้วิธีรีไฟแนนซ์รถ, ขายดาวน์, ปิดไฟแนนซ์รถก่อนขายรถ หรือจะขายรถกับเต็นท์รถมือสองก็ได้ครับ ผมแนะนำให้ประเมินสถานการณ์และรีบจัดการให้ทันท่วงทีเพื่อตัดปัญหาการค้างจ่ายค่างวดที่ส่งผลให้เสียเครดิตทางการเงิน

หากเพื่อน ๆ สนใจรีไฟแนนซ์รถ สามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของทุกธนาคารและสมัครรีไฟแนนซ์ผ่าน Refinn ได้เลย ทุกอย่างฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567
Refinn Writer
ช่วยเปรียบเทียบโปรโมชั่นที่ประหยัดดอกเบี้ยที่สุด ฟรี ไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม