เอกสารรีไฟแนนซ์บ้านต้องเตรียมอะไรบ้าง | Refinn
การรีไฟแนนซ์บ้านก็เหมือนการขอสินเชื่ออีกครั้งหนึ่งกับธนาคารใหม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารใหม่เขาก็อยากจะตรวจสอบตัวตนของเราว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ธนาคารกำหนดหรือไม่ ด้วยการขอเอกสารต่างๆ ไปพิจารณา ซึ่งโดยปกติแล้วแต่ละธนาคารจะขอเอกสารที่คล้ายกัน แต่ก็ไม่ถึงกับเหมือนกันทั้งหมด
ดังนั้น ในบทความนี้จะพูดถึงเอกสารรีไฟแนนซ์บ้านหลักๆ ที่ต้องเตรียมซึ่งใช้ได้เกือบทุกธนาคาร แต่ถ้าหากมีธนาคารไหนที่ต้องการมากกว่านี้จริงๆ ค่อยไปเตรียมเพิ่มเอาตามที่ธนาคารขอได้เลยครับ
เอกสารรีไฟแนซ์บ้าน ที่ต้องเตรียมทั้งหมด 3 ประเภท
เอกสารรีไฟแนนซ์จะมีทั้งหมด 3 ประเภทครับ ซึ่งประกอบไปด้วย เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล, เอกสารแสดงรายได้, เอกสารด้านหลักประกัน โดยในเอกสารรีไฟแนนซ์แต่ละประเภทก็จะมีเอกสารย่อย ๆ อีกมากมาย แต่ไม่ต้องห่วงไปครับ เราไปดูกันทีละตัวกันดีกว่า
1. เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล
เอกสารรีไฟแนนซ์ประเภทนี้จะเป็นเอกสารเกี่ยวกับผู้กู้ เพื่อให้ธนาคารสามารถยืนยันตัวตนได้ว่า เป็นตัวผู้กู้จริงๆ ไม่ใช่บุคคลอื่นมาแอบอ้าง โดยส่วนใหญ่เอกสารประเภทนี้จะประกอบด้วย
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของคู่สมรส (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) / หย่า (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณบัตร และทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
*ถ้ามีผู้กู้ร่วม ต้องให้ผู้กู้ร่วมเตรียมเอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเดียวกันนะครับ
2. เอกสารแสดงรายได้
ในส่วนนี้จะเป็นส่วนหลักที่ธนาคารใช้พิจารณาว่าเราเข้าเงื่อนไขของธนาคารหรือไม่ เพราะสามารถแสดงสถานะการเงิน รายได้ และประวัติการเดินบัญชี ซึ่งเอกสารประเภทนี้จะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
2.1 กรณีบุคคลมีรายได้ประจำ
- สลิปเงินเดือน ย้อนหลัง 3 เดือน หรือหนังสือรับรองการทำงาน
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
- หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ (ถ้ามี)
- สำเนารับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) (สำหรับบางธนาคารเท่านั้น)
2.2 กรณีบุคคลที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้/ผู้กู้ร่วม
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 12 เดือน (ทั้งในนามบุคคล และกิจการ)
- สำเนา ภ.พ. 30 (ถ้ามี) หรือ ภงด. 50/51 ย้อนหลัง 5 เดือน (ถ้ามี)
*ถ้ามีผู้กู้ร่วม ต้องให้ผู้กู้ร่วมเตรียมเอกสารแสดงรายได้ เช่นเดียวกันนะครับ
**สำหรับเอกสารประเภทนี้ บางธนาคารที่เข้มงวดอาจจะขอไม่เท่ากันนะครับ เช่น สำเนาบัญชีย้อนหลัง ขอนานถึง 12 เดือน
3. เอกสารด้านหลักประกัน
จะเป็นเอกสารที่ยืนยันความเป็นเจ้าของหลักประกันที่จะนำมารีไฟแนนซ์ ซึ่งมีทั้งเอกสารจากธนาคารเดิม และเอกสารจากกรมที่ดิน ประกอบด้วย
- สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน (เช่น โฉนดที่ดิน หรือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด อช.2)
- สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ทด.13 หรือ สัญญาให้ที่ดิน ทด.14 หรือ สัญญาซื้อขายห้องชุด
- สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หรือ สำเนาสัญญาจำนองห้องชุด
- สำเนาสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินเดิม
- สำเนาใบเสร็จผ่อนชำระค่างวดบ้าน หรือ ถ้าผ่อนชำระแบบตัดค่างวดอัตโนมัติ ให้ใช้ รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน
จะเห็นว่าเอกสารที่ใช้นั้นไม่ได้แตกต่างไปกับการยื่นกู้บ้านใหม่เท่าไหร่นัก จะมีเพิ่มเติมก็คือเอกสารด้านหลักประกันที่ได้มาหลังจากจำนองกับกรมที่ดินตอนซื้อบ้านหรือคอนโดแล้ว และสัญญาเงินกู้กับธนาคารเดิมนั่นเอง
เรื่องอื่น ๆ ที่ควรรู้นอกเหนือจากเอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน คือ อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรเข้าใจและให้ความสำคัญ เพราะว่า ถ้าเราเข้าใจและเตรียมตัวตามขั้นตอนเหล่านี้ มันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราผ่อนบ้านหมดไวขึ้น แถมยังประหยัดเงินถึงหลักเเสนเลยล่ะครับ โดยขั้นตอนต่าง ๆ มีตามนี้เลยครับ
- ตรวจสอบสัญญากู้ของตัวเอง ว่ารีไฟแนนซ์ได้เมื่อไหร่ (โดยส่วนมากจะอยู่ที่ 3 ปี)
- เลือกธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ถ้าเลือกดีๆ ได้ตัวที่ดอกเบี้ยถูกที่สุด จะประหยัดดอกเบี้ยได้หลักแสน
- เตรียมเอกสารประกอบการยื่นรีไฟแนนซ์ ประกอบด้วย เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล, เอกสารแสดงรายได้, เอกสารด้านหลักประกัน (ตามหัวข้อข้างต้น)
- ยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ ซึ่งใช้เวลาพิจารณาอนุมัติประมาณ 2-4 สัปดาห์
- สอบถามยอดหนี้คงเหลือ และนัดวันไถ่ถอนจากธนาคารเก่า
- ไปทำสัญญาและจำนองที่กรมที่ดิน
และหากเพื่อน ๆ คนไหนต้องการทราบข้อมูลแบบละเอียดสามารถอ่านได้ที่ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน
ค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์บ้าน
ค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์บ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ไม่แพ้เอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน เลยล่ะครับ ซึ่งเจ้าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คือ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านของเราครับ ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจเงื่อนไขของค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้ว มันจะทำให้เราสามารถวางแผนจัดเตรียมเงินได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้หลายเท่าตัวเลยล่ะครับ โดยค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้านจะมีตามนี้เลยครับ
ค่าปรับกรณีไถ่ถอนหลักประกันก่อนกำหนด
โดยส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปีแรกของการกู้ โดยจ่ายประมาณ 2-3%ของยอดหนี้คงเหลือ นั่นหมายความว่า ถ้าเรารีไฟแนนซ์ในช่วง 3 ปีแรกของสัญญา เราต้องจ่ายค่าปรับตัวนี้ด้วยครับ แต่ถ้าเรารีไฟแนนซ์ในปีที่ 4 เป็นต้นไป เราก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับครับ ถือได้ว่าประหยัดเงินไปได้เยอะพอสมควรเลยล่ะ (แต่ทีนี้ก็เราก็ต้องเช็คเงื่อนไขของธนาคารที่เราขอสินเชื่อให้ดีก่อนนะครับ ว่าเขามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เราจะได้ไม่พลาดครับ)
ค่าใช้จ่ายจากการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์
คือค่าสินเชื่อที่เราจ่ายให้กับธนาคารแห่งใหม่นั่นเองครับ เพราะการรีไฟแนนซ์ คือการที่เราไปขอสินเชื่อกู้บ้านจากธนาคารใหม่ ดังนั้นเราก็ต้องเตรียมเงินไปจ่ายค่าขอสินเชื่อให้กับธนาคารใหม่ด้วยนะครับ
ค่าใช้จ่ายกับกรมที่ดิน
โดยมีอีกชื่อว่า ค่าจดจำนอง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้คล้ายกับค่าขอสินเชื่อจากธนาคารใหม่ในข้อ 2 เลยครับ แต่เราจะจ่ายให้กรมที่ดินแทน ซึ่งราคาค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ที่อัตรา 1% ของวงเงินกู้ และมีค่าอากรแสตมป์อีก 0.05% ของวงเงินกู้ด้วย เตรียมเงินไว้ให้พร้อมนะครับ
แต่เพื่อนคนไหนที่อยากทราบข้อมูลแบบเจาะลึก ผมแนะนำให้อ่าน ค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์บ้าน
สรุป
สุดท้ายนี้จะฝากไว้ว่า รายการเอกสารที่เขียนมาเป็นรายการเอกสารที่หลายธนาคารให้เตรียมในเบื้องต้นเท่านั้น ธนาคารแต่ละแห่งอาจจะมีเอกสารที่ต้องการเพิ่มเติม และถ้าคุณอยากรู้ว่าธนาคารไหนที่อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านดีที่สุด และต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง สามารถสอบถามได้ตลอดครับ และยังสามารถลองใช้บริการของ www.refinn.com ดูได้นะครับ บริการฟรี ไม่คิดค่าบริการใดๆ ครับ :)